Home การอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย และการทรงเรียก

การอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย และการทรงเรียก

การอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย และการทรงเรียก

เนหะมีย์ 1 : การอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย และการทรงเรียก

คำว่า “น้ำพระทัย” เป็นคำที่เราคริสเตียนทุกคนคุ้นเคยกันดี เพราะว่าเราทุกๆ คนต่างก็เผชิญการท้าทาย หรือการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในทุกช่วงชีวิตของเรา เช่น การเปลี่ยนบทบาทจาก เด็กมาเป็นผู้ใหญ่ จากอยู่คนเดียวมาอยู่เป็นคู่ การอยู่กันเป็นสามีภรรยาก็มาเป็นพ่อและแม่ และจากลูกน้องมาเป็นหัวหน้า ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่าง เราต่างก็เผชิญความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งในความท้าทายเหล่านี้ก็เร้าให้เราแสวงหาการทรนำและน้ำพระทัยของพระเจ้า ว่าทรงมีความประสงค์อย่างไรต่อเรา เพื่อเราจะสามารถดำเนินชีวิตให้อยู่ในเส้นทางที่พระองค์พอพระทัย เพราะเราต่างก็เชื่อว่า การอยู่ในทางพระเจ้านั้นช่วยปกป้องชีวิตเราให้ดำเนินอย่างมั่นคง ปลอดภัย เพราะพระองค์ทรงดูแลอยู่

ในพระธรรมเนหะมีย์ บทที่ 1 เราจะเห็นคำอธิษฐานของเนหะมีย์ ในการแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้า หลังจากที่ท่านได้ยินข่าวที่น่าทุกข์ใจของพี่น้องชาวอิสราเอล ที่ถูกทิ้งอยู่ในเยรูซาเล็ม (ในช่วงเวลาที่ตกเป็นเชลยของอาณาจักรเปอร์เซีย) พวกเขาถูกคนต่างชาติข่มเหงและดูหมิ่น จนเขาคร่ำครวญให้เนหะมีย์ฟังว่า “พวกเขาเป็นเชลย มีความลำบาก และความอับอาย” (1:3) เพราะกำแพงเมืองก็ถูกทำลายจนคนต่างชาติเข้ามายึดที่ทำกิน สร้างอิทธิพลในเยรูซาเล็ม และสร้างความลำบากให้แก่พวกเขา ซึ่งเนหะมีย์ได้ยินเช่นนี้ ก็เกิดความเศร้าโศกจนอดไม่ได้ที่จะก้มลงอธิษฐาน เพื่อแสวงหาน้ำพระทัยและแผนการช่วยเหลือ และเขาก็อธิษฐานอย่างยาวนานประมาณ 3-6เดือน <จากเดือนคิสเลฟ (1:1) ไปถึงเดือนนิสาน (2:1)> ซึ่งพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐาน ด้วยการเรียกให้เขาไปทูลขอพระราชาเปอร์เซีย เพื่อกลับไปสร้างกำแพงใหม่ (1:1–7:73) และ ปฎิรูปความเป็นอยู่ของประชาชน (8:1–13:31) ใน บทที่ 1 ข้อ 5-11 เราสามารถเรียนรู้การอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย ด้วยท่าทียอจำนนอย่างน้อย 3 ประเด็น

1) การอธิษฐานด้วยความเชื่อให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง จากข้อ 5 เราจะเห็นว่าเนหะมีย์กำลังทุกข์ใจ แต่ท่านไม่ได้เริ่มต้นการอธิษฐานด้วยการทูลขอ ท่านเริ่มด้วยการสรรเสริญพระลักษณะของพระเจ้าที่สะท้อนความเชื่อว่า พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสามารถกระทำทุกสิ่งได้ และพระเจ้าทรงรักมั่นคงผู้เต็มใจช่วยผู้ที่พระองค์ทรงรัก และยิ่งกว่านั้น ในข้อที่ 8-9 เนหะมีย์อธิษฐาน โดยอ้างพระสัญญาที่อ้างจากเฉลยธรรมบัญญัติ 27-30 ที่พระเจ้าทรงให้แก่โมเสส ซึ่งเนหะมีย์มีความเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงทำตามพระสัญญานี้ … คำอธิษฐานนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า เมื่อเผชิญปัญหา ให้เราเพ่งมองที่พระลักษณะพระเจ้า ยิ่งเราเพ่งมอง เราจะยิ่งมีความเชื่อที่เพิ่มพูน และการอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัยที่เริ่มจากการเพ่งมอง จดจ่อที่พระเจ้านั้น ควรควบคู่ไปกับความรู้ ความเข้าใจในพระสัญญาที่มาจากการอ่านพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอ

2) การอธิษฐานอย่างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้อง จากข้อ 6-7 เนหะมีย์ ตระหนักถึงบาปของชนชาติของท่านอยู่เสมอ เพราะท่านตระหนักเสมอว่า ท่านเป็นเชลยสงคราม อันเนื่องมาจากการตีสอนของพระเจ้า ซึ่งก่อนที่ท่านจะทูลขอแผนการช่วยกู้จากพระเจ้า ท่านจำเป็นต้องสารภาพบาปของชนชาติของท่านก่อน และท่านก็ไม่เพียงสารภาพบาปแทนบรรพบุรุษของท่าน แต่ท่านยังสำนึกผิดร่วมโดยรวมตัวท่านเป็นหนี่งในผู้ทำผิดบาปต่อพระเจ้าด้วย …น้ำใจของเนหะมีย์สอนเราว่า พระเจ้ามองเราเป็นชุมชน เมื่อสิ่งใดที่กระทบต่อพระนามพระเจ้า เรามีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นการที่เรารักษาชีวิตให้บริสุทธิ์ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเราแค่คนเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับพี่น้องของเราเสมอ

3) การอธิษฐานด้วยการยอมจำนน เมื่อเราสังเกตคำอธิษฐานของเนหะมีย์ จากข้อ 5-11 คำอธิษฐานทูลขอของท่านอยู่ในข้อ 11 เท่านั้น “โปรดเงี่ยพระกรรณฟังคำอธิษฐานของผู้รับใช้ของพระองค์ … ขอประทานความสำเร็จแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ในวันนี้ และขอให้เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระราชา” คำทูลขอนี้เป็นการตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้า ที่ทรงเรียกให้เป็นท่านเองให้ถวายตัวออกไปรับใช้พี่น้องร่วมชาติ เนหะมีย์ได้รับภาระใจจากพระเจ้าให้อธิษฐานเผื่อเพื่อนร่วมชาติของท่าน ท่านอธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วยพี่น้องของท่านมาเป็นเวลาประมาณ 3-6 เดือน ท่านขอให้พระเจ้าประทานทางออก และในขณะอธิษฐานพระเจ้าทรงทำงานในใจท่าน ให้ท่านเกิดความกล้าที่จะทิ้งชีวิตที่สบายที่เปอร์เซียและถวายชีวิตตนเองกลับไปร่วมลำบากกับพี่น้องร่วมชาติเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งเมื่อเราอ่านบทต่อๆไปในพระธรรมเนหะมีย์ เราจะเห็นว่าท่านใช้ความรู้ เรื่องการจัดการที่ท่านเรียนรู้ที่เปอร์เซียมาใช้ในการบริหารจัดการในการสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่

เนหะมีย์ บทที่ 1 ช่วยให้เราเห็นการเริ่มต้นการแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน และยังช่วยสอนความจริงของชีวิตให้กับเราว่า จุดสูงสุดของสายอาชีพที่เราทำ (ของเนหะมีย์ คือพนักงานเชิญถ้วยเสวย) ไม่ใช่จุดสูงสุดของชีวิต มันเป็นแค่ 1 ช่วงเวลา ที่พระเจ้าให้เราเรียนรู้ เพื่อจะไปต่อสู่ช่วงต่อไปของชีวิต เพื่อเราจะสามารถนำความสามารถเหล่านั้นออกมารับใช้พระเจ้า รับใช้พี่น้องตามพระทัยของพระเจ้า ขอให้เราเริ่มต้นอธิษฐานตั้งแต่วันนี้ว่า “พระเจ้าครับในวาระต่อไป พระเจ้าทรงมีน้ำพระทัยอย่างไรต่อชีวิตผม…ขอให้ผมรู้ และประทานใจยอมจำนน เชื่อฟังอย่างหมดใจให้แก่ผมด้วยครับ….อาเมน”

อ.นิธิวิชญ์ ลิ้มดำรงค์ชิต

Author: Maitrichit Church

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *